การประกันคุณภาพระดับหลักสูตร

องค์ประกอบในการประกันคุณภาพหลักสูตร

คำถาม : ตัวบ่งชี้ชนิดที่เป็นผลลัพธ์ (ตัวบ่งชี้ที่ 3.3 และ 4.3) ระบุเกี่ยวกับ “แนวโน้ม” ต้องใช้ข้อมูลอย่างไร กี่รอบการดำเนินงาน

คำตอบ : ต้องใช้ข้อมูลอย่างน้อย 3 รอบการดำเนินงาน เช่น ข้อมูล 3 ปีการศึกษาต่อกัน เป็นต้น และต้องแสดงให้เห็นว่ามีการดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

คำถาม : หลักสูตร TQF ที่มีนิสิตคงค้าง แต่ไม่ได้เปิดรับนิสิตใหม่ ต้องประเมินหรือไม่

คำตอบ : อนุโลมไม่ต้องรับการประเมิน

คำถาม : หลักสูตรที่ได้รับการรับรองจาก สกอ. แล้ว แต่ยังไม่มีการรับนิสิตต้องทำการประเมินหรือไม่

คำตอบ :  ไม่ต้องรับการประเมิน

คำถาม : การตรวจหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาตรวจที่ใด ระหว่างบัณฑิตวิทยาลัยกับคณะเจ้าของหลักสูตร

คำตอบ : คณะ/หน่วยงานที่เป็นเจ้าของหลักสูตร

คำถาม : หลักสูตรสามารถเลือกผู้ประเมินด้วยตนเองได้หรือไม่

คำตอบ : ได้ ตามเกณฑ์ที่ระบุในคู่มือการประกันคุณภาพภายในระดับอุดมศึกษาฉบับปีการศึกษา 2557 (หน้า 18)

คำถาม : การประเมินระดับหลักสูตรมีจุดเน้นเรื่องใด

คำตอบ : เน้นเรื่องคุณภาพการจัดการศึกษา  ว่าหลักสูตรได้ดำเนินการเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับอุดมศึกษาและเกณฑ์มาตรฐานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยพิจารณาองค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ การกำกับมาตรฐาน บัณฑิต นิสิต อาจารย์ หลักสูตร การเรียนการสอน  การประเมินผู้เรียน และสิ่งสนับสนุนการเรียนรู้

คำถาม : ผลการประเมินระดับหลักสูตรมีการกำหนดช่วงระดับคุณภาพ เพื่อวัตถุประสงค์อะไร

คำตอบ : 

1. เพื่อการกำหนดระดับคุณภาพ (0.01-2.00 = น้อย, 2.01-3.00 = ปานกลาง, 3.01-4.00 = ดี, 4.01-5.00 = ดีมาก)

2. เพื่อใช้เป็นเงื่อนไขในการรับรองและเผยแพร่หลักสูตร เนื่องจากหลักสูตรต้องผ่านเกณฑ์การประเมินระดับดีขึ้นไปต่อเนื่อง 2 ปีนับตั้งแต่เปิดสอนหลักสูตรที่พัฒนาตามกรอบ TQF  จึงจะได้รับการรับรองและเผยแพร่โดย สกอ.

คำถาม : การนับรอบปีในการประเมินหลักสูตรนับอย่างไร

คำตอบ :

ปีการศึกษา 2557 คือ  1 ส.ค. 57 – 31 ก.ค. 58

ปีปฏิทิน คือ  ปี พ.ศ. 2557 คือ 1 ม.ค. 57 – 31 ธ.ค. 57 (ใช้ในการนับการเผยแพร่ผลงานวิชาการ)

คำถาม : สกอ. จะประเมินติดตามหลักสูตรทุก 3 ปี หมายความว่าอย่างไร

คำตอบ : ในทุก ๆ 3 ปี สกอ. จะจัดส่งคณะกรรมการเข้าติดตามประเมินหลักสูตรโดยทุกหลักสูตรต้องมีการประเมินภายในเองทุกปีพร้อมทั้งต้องส่งรายงานให้ สกอ. ผ่านระบบ CHE-QA Online