คำถาม : แนวทางการดำเนินการประเมินคุณภาพภายใน ระดับหลักสูตร สำหรับหลักสูตรที่มี มคอ.1 เพื่อขึ้นทะเบียนหลักสูตรที่มีคุณภาพและมาตรฐานตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ

คำตอบ: ในปีการศึกษา 2557 ขอให้สถาบันอุดมศึกษาดำเนินการ ดังนี้

1) แจ้งความประสงค์มายัง สกอ. เพื่อขอรับการประเมินคุณภาพภายใน ระดับหลักสูตร สำหรับขึ้นทะเบียนหลักสูตรที่มีคุณภาพและมาตรฐานตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ
2) สถาบันอุดมศึกษาดำเนินการประเมินคุณภาพตามลำดับ ตั้งแต่ระดับหลักสูตร คณะ สถาบัน และจัดส่งรายงานประจำปีที่เป็นรายงานการประเมินคุณภาพภายในผ่านระบบฐานข้อมูล CHE QA Online ภายใน 120 วันจากวันสิ้นปีการศึกษา
3) สกอ. จะพิจารณาผลการประเมินคุณภาพของหลักสูตรที่แจ้งความประสงค์ขอรับการประเมินคุณภาพเพื่อขึ้นทะเบียนหลักสูตรฯ จากระบบ CHE QA Online หากเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด สกอ. จะแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินคุณภาพภายในระดับหลักสูตร เพื่อทำหน้าที่ประเมินหลักสูตรอีกครั้งตั้งแต่เดือนธันวาคม 2558 เป็นต้นไป หากผลการประเมินคุณภาพภายในของหลักสูตรดังกล่าวมีผลการประเมินตั้งแต่ระดับดีขึ้นไป หลักสูตรนั้นจะได้รับการขึ้นทะเบียนหลักสูตร โดยมีระยะเวลาการขึ้นทะเบียนตามรอบการปรับปรุงของหลักสูตร

ที่มา : หนังสือราชการ สกอ. ที่ ศธ 0506(3)/10206 ลงวันที่ 11 กันยายน 2558 )

 

 

คำถาม : การประเมินระดับหลักสูตร ตัวบ่งชี้ที่ 5.4 “ผลการดำเนินงานหลักสูตรตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ” จะพิจารณาร้อยละของผลการดำเนินงานตามตัวบ่งชี้การดำเนินงานที่ระบุไว้ในแต่ละปีอย่างไร

คำตอบ : 1. กรณีตัวบ่งชี้ผลการดำเนินงานหลักสูตรตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติข้อที่ 11 คือ ระดับความพึงพอใจของนิสิตชั้นปีสุดท้าย/บัณฑิตใหม่ที่มีต่อคุณภาพของหลักสุูตร และข้อที่ 12 คือ ระดับความพึงพอใจของผู้ใช้บัณฑิตที่มีต่อบัณฑิตใหม่ จะต้องประเมินหรือไม่ ให้พิจารณา ดังนี้
1.1) หากเป็นหลักสูตรใหม่ และยังไม่มีนิสิตที่สำเร็จการศึกษา ให้พิจารณาว่าในเอกสาร มคอ.2 ระบุการประเมินข้อ 11 และข้อ 12 ไว้ในปีใดของการดำเนินการหลักสูตร ก็ให้ประเมินตามปีที่ระบุ
1.2) หากเป้นหลักสูตรปรับปรุง ซึ่งมีการดำเนินงานมาครบรอบระยะเวลาหลักสูตรและมีนิสิตสำดร็จการศึกษาแล้ว ก็ให้ประเมินข้อ 11 และข้อ 12 ดังกล่าวด้วย

2. กรณีตัวบ่งชี้ผลการดำเนินงานหลักสูตรตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ ข้อที่ 8 คือ อาจารย์ใหม่ (ถ้ามี) ทุกคนได้รับการปฐมนิเทศหรือให้คำแนะนำด้านการจัดการเรียนการสอน
คำว่า  “อาจารย์ใหม่” ที่ระบุไว้ หมายถึง อาจารย์ประจำและอาจารย์พิเศษที่เพิ่งเข้ามาร่วมจัดการเรียนการสอนใหม่ในหลักสูตร ซึ่งคณะหรือภาควิชาหรือหัวหน้าหลักสูตรจะต้องจัดการปฐมนิเทศหรือให้คำแนะนำด้านการจัดการเราียนการสอนให้กับอาจารย์ผู้นั้น เพื่อรับทราบและเข้าใจเกี่ยวกับรายละเอียดต่าง ๆ ที่กำหนดในหลักสูตรเป็นการเฉพาะ อาทิ ปรัชญา วัตถุประสงค์ โครงสร้างหลักสูตร ลักษณะการจัดการเรียนการสอน ความสัมพันธ์แต่ละรายวิชาที่อยู่ในหลักสูตร เพื่อให้การเรียนการสอนแต่ละรายวิชามีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ

ที่มา : หนังสือราชการ สกอ. ที่ ศธ 0506(3)/10206 ลงวันที่ 11 กันยายน 2558 )

คำถาม : กรณีลงนามสัญญาก่อนปีที่ประเมิน แต่มีระยะสัญญามากกว่า 1 ปี สามารถนำเงินวิจัยของสัญญาฉบับนี้มาคำนวณในปีที่ประเมินได้หรือไม่

คำตอบ :  ได้   โดยนำเงินวิจัยมาหารด้วยจำนวนปีของระยะสัญญา และนำผลลัพธ์ที่ได้ไปคำนวณตามสูตรการคำนวณของ สกอ.

คำถาม : กรณีลงนามสัญญาก่อนปีการศึกษาที่ประเมิน และมีระยะสัญญา 1 ปี ไม่สามารถนำเงินวิจัยของสัญญาฉบับนี้มาคำนวณได้ใช่หรือไม่

คำตอบ :  ใช่  ไม่สามารถนำมาคำนวณได้  เพราะต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่  1  สิงหาคม ของปีการศึกษาที่ประเมิน

คำถาม : กรณีลงนามสัญญาวิจัยภายในรอบปีที่ประเมิน และระยะสัญญามากกว่า 1 ปี ตัวอย่างเช่น ลงนามสัญญาปลายปีการศึกษา 2557 โดยมีระยะสัญญาวิจัย 3 ปี จำนวนทุนวิจัยที่ได้รับ 3 ล้านบาท ต้องคำนวณเงินวิจัยอย่างไร

คำตอบ :  ตัวตั้งคือ เงินวิจัย  (3 ล้านบาท) หารด้วยจำนวนระยะสัญญา (3 ปี)  ผลลัพธ์เท่ากับ  เงินวิจัย 1 ล้านบาท  นำมานับเป็นตัวตั้งของปีการศึกษา 2557  และนำไปคำนวณตามสูตรการคำนวณของ สกอ.  จะได้เป็นคะแนนของปีการศึกษา 2557    สำหรับจำนวนเงินที่เหลือจะนำไปคำนวณในปีการศึกษาต่อไปตามระยะสัญญา  (ปีการศึกษา 2558  และปีการศึกษา 2559  ปีละ 1 ล้านบาท)

คำถาม : คำว่า ผู้บริหารระดับสถาบัน หมายถึง ผู้บริหารระดับคณะใช่หรือไม่

คำตอบ :  ผู้บริหารระดับสถาบัน หมายถึง ทีมผู้บริหารของสถาบันที่มีหน้าที่อนุมัติแผนกลยุทธ์ของคณะ ขึ้นอยู่กับแนวปฏิบัติของสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่ง ซึ่งอาจเป็นผู้บริหารระดับคณะหรือสถาบันก็ได้   ทั้งนี้คู่มือการประกันคุณภาพการศึกษาภายใน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปีการศึกษา 2557  หมายถึง ผู้บริหารระดับคณะ
(ที่มา : หนังสือราชการ สกอ. ที่ศธ 0506(3)/10206 ลงวันที่ 11 กันยายน 2558 ข้อ 2 การประเมินระดับคณะ )

คำถาม : การกำหนดค่าเป้าหมาย/ตัวชี้วัดความสำเร็จ ควรกำหนดอย่างไรเพื่อให้สามารถวัดได้อย่างชัดเจน

คำตอบ : ให้กำหนดในสิ่งที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของแผนและสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลได้อย่างถูกต้อง ตรงกัน (ขึ้นอยู่กับการตั้งวัตถุประสงค์ว่าจะประหยัดหรือดูแลสิ่งแวดล้อมใด)

คำถาม : การวางแผนดำเนินการจำเป็นต้องสอดคล้องกับแผน/นโยบายพลังงานของชาติหรือไม่

คำตอบ :  ควรสอดคล้องกับแผน/นโยบายของชาติ หรือ ของมหาวิทยาลัย

คำถาม : นำผลการประเมินและข้อเสนอแนะจากกรรมการประจำคณะมาปรับปรุงหลักสูตรให้มีคุณภาพดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง คำว่า “อย่างต่อเนื่อง” วัดจากอะไร

คำตอบ :  ผลดำเนินการตามตัวชี้วัดตามกรอบ TQF  หรือผลการประเมินหลักสูตรเทียบกับปีที่ผ่านมา

คำถาม : การรวบรวมความรู้จากแหล่งอื่น ๆ จำเป็นต้องมีการวิเคราะห์หรือได้รับข้อเสนอแนะจากผู้มีประสบการณ์ตรงอีกหรือไม่ ก่อนนำมากำหนดเป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน

คำตอบ : ไม่จำเป็น เพราะเป็น Explicit knowleadge แต่จะดำเนินการก็ได้ แล้วแต่ผู้ดำเนินการจะเห็นสมควร