การประเมินระดับหลักสูตร

คำถาม : แนวทางการดำเนินการประเมินคุณภาพภายใน ระดับหลักสูตร สำหรับหลักสูตรที่มี มคอ.1 เพื่อขึ้นทะเบียนหลักสูตรที่มีคุณภาพและมาตรฐานตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ

คำตอบ: ในปีการศึกษา 2557 ขอให้สถาบันอุดมศึกษาดำเนินการ ดังนี้

1) แจ้งความประสงค์มายัง สกอ. เพื่อขอรับการประเมินคุณภาพภายใน ระดับหลักสูตร สำหรับขึ้นทะเบียนหลักสูตรที่มีคุณภาพและมาตรฐานตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ
2) สถาบันอุดมศึกษาดำเนินการประเมินคุณภาพตามลำดับ ตั้งแต่ระดับหลักสูตร คณะ สถาบัน และจัดส่งรายงานประจำปีที่เป็นรายงานการประเมินคุณภาพภายในผ่านระบบฐานข้อมูล CHE QA Online ภายใน 120 วันจากวันสิ้นปีการศึกษา
3) สกอ. จะพิจารณาผลการประเมินคุณภาพของหลักสูตรที่แจ้งความประสงค์ขอรับการประเมินคุณภาพเพื่อขึ้นทะเบียนหลักสูตรฯ จากระบบ CHE QA Online หากเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด สกอ. จะแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินคุณภาพภายในระดับหลักสูตร เพื่อทำหน้าที่ประเมินหลักสูตรอีกครั้งตั้งแต่เดือนธันวาคม 2558 เป็นต้นไป หากผลการประเมินคุณภาพภายในของหลักสูตรดังกล่าวมีผลการประเมินตั้งแต่ระดับดีขึ้นไป หลักสูตรนั้นจะได้รับการขึ้นทะเบียนหลักสูตร โดยมีระยะเวลาการขึ้นทะเบียนตามรอบการปรับปรุงของหลักสูตร

ที่มา : หนังสือราชการ สกอ. ที่ ศธ 0506(3)/10206 ลงวันที่ 11 กันยายน 2558 )

 

 

คำถาม : การประเมินระดับหลักสูตร ตัวบ่งชี้ที่ 5.4 “ผลการดำเนินงานหลักสูตรตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ” จะพิจารณาร้อยละของผลการดำเนินงานตามตัวบ่งชี้การดำเนินงานที่ระบุไว้ในแต่ละปีอย่างไร

คำตอบ : 1. กรณีตัวบ่งชี้ผลการดำเนินงานหลักสูตรตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติข้อที่ 11 คือ ระดับความพึงพอใจของนิสิตชั้นปีสุดท้าย/บัณฑิตใหม่ที่มีต่อคุณภาพของหลักสุูตร และข้อที่ 12 คือ ระดับความพึงพอใจของผู้ใช้บัณฑิตที่มีต่อบัณฑิตใหม่ จะต้องประเมินหรือไม่ ให้พิจารณา ดังนี้
1.1) หากเป็นหลักสูตรใหม่ และยังไม่มีนิสิตที่สำเร็จการศึกษา ให้พิจารณาว่าในเอกสาร มคอ.2 ระบุการประเมินข้อ 11 และข้อ 12 ไว้ในปีใดของการดำเนินการหลักสูตร ก็ให้ประเมินตามปีที่ระบุ
1.2) หากเป้นหลักสูตรปรับปรุง ซึ่งมีการดำเนินงานมาครบรอบระยะเวลาหลักสูตรและมีนิสิตสำดร็จการศึกษาแล้ว ก็ให้ประเมินข้อ 11 และข้อ 12 ดังกล่าวด้วย

2. กรณีตัวบ่งชี้ผลการดำเนินงานหลักสูตรตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ ข้อที่ 8 คือ อาจารย์ใหม่ (ถ้ามี) ทุกคนได้รับการปฐมนิเทศหรือให้คำแนะนำด้านการจัดการเรียนการสอน
คำว่า  “อาจารย์ใหม่” ที่ระบุไว้ หมายถึง อาจารย์ประจำและอาจารย์พิเศษที่เพิ่งเข้ามาร่วมจัดการเรียนการสอนใหม่ในหลักสูตร ซึ่งคณะหรือภาควิชาหรือหัวหน้าหลักสูตรจะต้องจัดการปฐมนิเทศหรือให้คำแนะนำด้านการจัดการเราียนการสอนให้กับอาจารย์ผู้นั้น เพื่อรับทราบและเข้าใจเกี่ยวกับรายละเอียดต่าง ๆ ที่กำหนดในหลักสูตรเป็นการเฉพาะ อาทิ ปรัชญา วัตถุประสงค์ โครงสร้างหลักสูตร ลักษณะการจัดการเรียนการสอน ความสัมพันธ์แต่ละรายวิชาที่อยู่ในหลักสูตร เพื่อให้การเรียนการสอนแต่ละรายวิชามีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ

ที่มา : หนังสือราชการ สกอ. ที่ ศธ 0506(3)/10206 ลงวันที่ 11 กันยายน 2558 )

คำถาม : อาจารย์ลาไปศึกษาต่อระดับ ป.เอก นับเป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรได้หรือไม่

คำตอบ :  ไม่ได้ เพราะลาไปศึกษาต่อ

คำถาม : ผู้บริหาร (อธิการบดี รองอธิการบดี คณบดี ผู้อำนวยการ) ในมหาวิทยาลัยนั้นเป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรได้หรือไม่

คำตอบ : ได้หากมีคุณสมบัติครบตามข้อกำหนดของ สกอ. สามารถเป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรได้เพียงหลักสูตรเดียวในมหาวิทยาลัยนั้น

คำถาม : อาจารย์ประจำหลักสูตรสามารถเป็น อาจารย์ผู้สอน ในหลาย ๆ หลักสูตรได้หรือไม่

คำตอบ : ได้

คำถาม : คุณวุฒิของอาจารย์ประจำหลักสูตรตรงสาขาหรือสัมพันธ์พิจารณาอย่างไร

คำตอบ : 

1. อ้างอิงข้อมูล ISCED-F 2013

2. “สัมพันธ์” ในที่นี้หมายถึงคุณวุฒิอาจารย์ประจำหลักสูตรที่สำเร็จการศึกษาในสาขาวิชาที่สัมพันธ์กับองค์ความรู้ของหลักสูตรที่เปิดสอน  โดยมีจำนวนรายวิชาของคุณวุฒิที่สำเร็จการศึกษาอย่างน้อยร้อยละ 50  ต้องตรงกับรายวิชาของหลักสูตรที่เปิดสอน โดยให้พิจารณารายวิชาของคุณวุฒิที่สูงกว่าระดับการศึกษาของหลักสูตรนั้น

3. กรณีที่อาจารย์สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตร By Research หรือหลักสูตรที่มี coure course น้อยมาก ให้ดูว่าวิทยานิพนธ์ของอาจารย์ตรงกับสาระหลักสูตร

4. กรณีมีข้อกำหนดของวิชาชีพเพิ่มเติมให้นำมาพิจารณาด้วย

 

คำถาม : กรณีที่หลักสูตรไม่ผ่านการประเมินในองค์ประกอบที่ 1 จะเกิดอะไรขึ้น

คำตอบ :

1. อาจจะถูกระงับการรับนิสิตในปีการศึกษาต่อไป

2. หลักสูตรไม่ได้รับการเผยแพร่ว่าได้มาตรฐานโดย สกอ. จนกว่าจะมีระดับคะแนนดีขึ้นไปต่อกัน 2 ปี

3. มีผลต่อตัวบ่งชี้ ระดับคณะ (1.1 และ 5.2) และตัวบ่งชี้ระดับมหาวิทยาลัย (1.1 , 5.2 และ 5.3) และมีผลต่อการประเมินของ กพร.

คำถาม : กรณีเป็นปีแรกของการประเมินตามเกณฑ์นี้ จะยกเว้นการเทียบเคียงหรือไม่

คำตอบ : ไม่ยกเว้น เนื่องจากการกำหนดคู่เทียบเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการปรับปรุงและพัฒนาองค์กรอย่างก้าวกระโดด โดยเกิดจากการเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดีจากคู่เทียบ

คำถาม : การประเมินระดับหลักสูตรมีจุดเน้นเรื่องใด

คำตอบ : เน้นเรื่องคุณภาพการจัดการศึกษา  ว่าหลักสูตรได้ดำเนินการเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับอุดมศึกษาและเกณฑ์มาตรฐานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยพิจารณาองค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ การกำกับมาตรฐาน บัณฑิต นิสิต อาจารย์ หลักสูตร การเรียนการสอน  การประเมินผู้เรียน และสิ่งสนับสนุนการเรียนรู้